การเพาะเห็ดแครงในถุงพลาสติก





มีชื่อเรียก หลายชื่อ ตามแต่ละพื้นที่ คือ เห็ดแก้น เห็ดตามอด เห็ดแต้บ เห็ดตีนตุ๊กแก (เหนือ) เห็ดแครง (ใต้) และเห็ดจิก มีชื่อทางวิทยาศาตร์ ว่า Schizophyllum commune Fr.ชื่อสามัญที่เป็นภาษาอังกฤษ คือ Common Split Gill. อยู่ในกลุ่ม Basidiomycota สามารถพบได้ทั่วไปในประเทศไทย (ราชบัณฑิตยสถาน 2539) ในปัจจุบันเห็ดตามธรรมชาติได้ลดน้อยลง ไม่เพียงพอกับความต้องการของผู้บริโภค กรมวิชาการเกษตรก็ได้ วิจัยสูตรอาหาร เทคนิคการเพาะ การดูแล จนได้ผลผลิต ที่มากเพียงพอในแง่เศรษฐกิจ ทาง ฟาร์มเห็ดเขาหมาก ได้ทำการเพาะจนได้ผลผลิต ที่เหมาะสมกับการลงทุน เฉลี่ย 130-150 กรัม ในวัสดุเพาะ 600 กรัม ซึ่งผลผลิตเห็ดแครงที่ได้จากการเพาะนี้ข้อดี คือ เป็นดอกที่แก่กำลังพอดี ไม่เหนียวเกินไป สะอาด เกษตรกรผู้เพาะเห็ดที่สนใจ สามารถติดต่อ ขอข้อมูลการเพาะ หัวเชื้อ และก้อนเชื้อเห็ดแครง อุปกรณ์เพาะได้ที่ ฟาร์มเห็ดเขาหมาก

วัสดุอุปกรณ์

1. ขี้เลื่อยไม้ยางพารา สะอาดปราศจากสารเคมี 100 กิโลกรัม
2. เชื้อขยายเห็ดแครง (หัวเชื้อข้าวฟ่าง)
3. ถุงพลาสติกทนร้อน(ถุง PP) ขนาด 6x10 นิ้ว
4. คอพลาสติกขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1-1.5 นิ้ว
5. ฝ้าย นุ่น สำลี ยางรัดของ
6. หม้อนึ่งลูกทุ่ง หรือหม้อนึ่งความดัน
7. โรงบ่มเส้นใย และโรงเรือนเปิดดอก



สูตรอาหาร


ขี้เลื่อย 100 กิโลกรัม, เมล็ดข้าวฟ่างต้มแล้ว 50 กิโลกรัม (ข้าวฟ่างดิบ 30 กิโลกรัม), รำ 3-5 กิโลกรัม, ปูนขาว 1 กิโลกรัม
น้ำ 65-85 กิโลกรัม


การเตรียมวัสดุเพาะ


แช่เมล็ดข้าวฟ่าง 30 กิโลกรัม ในน้ำทิ้งไว้ 1 คืน จากนั้นเทน้ำทิ้งเปลี่ยนน้ำใหม่ต้มให้เดือด จนเมล็ดข้าวฟ่างค่อนข้างสุก แล้วรินน้ำทิ้ง พักไว้ให้เย็นหมาดๆ ผสมขี้เลื่อย ปูนขาวและรำเข้าด้วยกันก่อนจากนั้นจึงผสมน้ำลงไป (หากผสมพร้อมกันหมด รำจะจับติดเป็นก้อน) เมื่อผสมเข้ากันดีแล้ว จึงนำเมล็ดข้าวฟ่างที่เตรียมไว้มาผสมอีกที จากนั้นกรอกใส่ถุงพลาสติก ขนาด 6x10 นิ้ว ให้มีน้ำหนัก 600 กรัม ใส่คอขวด รัดยาง และปิดสำลีแล้วปิดด้วยฝาปิด จากนั้นนำไปนึ่งด้วยหม้อนึ่งความดัน 15 ปอนด์ เวลา 30 นาที หรือ นึ่งด้วยหม้อนึ่งลูกทุ่ง อุณหภูมิ 100 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 3 ชั่วโมง ได้เวลาแล้วพักไว้ให้เย็น จึงรีบใส่เชื้อในเมล็ดข้าวฟ่างที่เตรียมไว้ทันที พยายามอย่าทิ้งถุงไว้เกิน 24 ชั่วโมง จะทำให้การปนเปื้อนสูง


การพักบ่มเส้นใย


โรงเรือนสำหรับพักบ่มเส้นใย ควรเป็นโรงเรือนในร่ม ที่มีการระบายอากาศดี และข้อสำคัญควรเป็นที่มืด (ขนาดที่อ่านหนังสือพิมพ์ไม่เห็นในระยะ 1 ฟุต พยายามทำให้ มืดที่สุด) เส้นใยจะเจริญเต็มถุงในเวลา 15-20-วัน-ที่อุณหภูมิระหว่าง 25-35 องศาเซลเซียส ซึ่งหลังจากเส้นใยเต็มถุง จึงให้แสงในโรงบ่ม ซึ่งแสงจะกระตุ้นให้เห็ดสร้างตุ่มดอก จะสังเกตเส้นใยเริ่มเปลี่ยน เป็นสีน้ำตาล จึงนำไปเปิดดอก โดยดึงจุดสำลีและคอขวดด้านบนออก ใช้ยางรัดปิดปากถุงให้แน่น แล้วกรีดด้านข้างให้เป็น มุมเฉียงจากบนลงล่างทั้ง 4 มุมของถุง หรือจะกรีดเป็น 8 แผล ก็ได้ แล้วนำไปวางบนชั้นหรือแขวนในโรงเรือน



โรงเรือนเปิดดอก
โรงเรือนเปิดดอกจะใกล้เคียงกับโรงเรือนเปิดดอกของเห็ดหูหนูเช่นกัน หากเป็นโรงเรือนของเห็ดนางรมนางฟ้า ต้องเพิ่มความชื้นขึ้นอีกเนื่องจากเห็ดแครงชอบความชื้นในบรรยากาศสูงและการระบายอากาศต้องดีด้วย การรดน้ำ ควรจะติดระบบสปริงเกอร์ ให้น้ำเช้าและเย็น หากรดน้ำด้วยมือจะต้องใช้หัวฉีดพ่นฝอย มิฉะนั้นก้อนเห็ดจะดูดน้ำเข้าไป ทำให้ก้อนเชื้อเสียและปนเปื้อน จุลินทรีย์อื่น การวางก้อนเชื้อจะต้องวางตั้งบนชั้นหรือแขวนแบบเห็ดหูหนู หลังจาก กรีดข้างถุงและรดน้ำเห็ดไปประมาณ 5 วัน จะเก็บผลผลิตรุ่นที่ 1 ได้ หลังจากนั้นเห็ดจะพักตัวอีก 5-7 วัน รดน้ำเป็นปกติ ก็จะเก็บรุ่นที่ 2 และ3 ตามลำดับ ซึ่งผลผลิตก็จะหมดให้ขนก้อนเก่าไปทิ้ง และพักโรงเรือน ให้แห้งเป็นเวลา 15 วัน จึงนำถุงเห็ดรุ่นใหม่ เข้าเปิดดอกต่อไป




การเก็บผลผลิต


ควรเก็บผลผลิตในระยะดอกมีสีขาวนวล ก่อนที่จะสร้างสปอร์ มิฉะนั้นสีจะคล้ำออก
สีน้ำตาลดูไม่น่ารับประทาน และเนื้อดอกจะเหนียวขึ้นอีกด้วย ข้อควรระวัง: ในระยะพักบ่ม ก้อนเชื้อจำเป็นต้องพักบ่มเส้นใยในที่มืด มิฉะนั้นแสงจะกระต้นให้เส้นใยสร้างดอกทั้งๆ ที่เส้นใย ยังเจริญไม่เต็มถุงและสะสมอาหารยังไม่เต็มที่ ทำให้ผลผลิตต่ำ ไม่คุ้มค่าในแง่เศรษฐกิจ ในระยะเปิดดอก ต้องคำนึงไว้เสมอว่าวัสดุที่ใช้เพาะเห็ดแครงนั้น มีธาตุอาหารสูงมาก สูงกว่าการเพาะเห็ดชนิดอื่นๆ ดังนั้นการปนเปื้อนจากราเขียว ราสีส้ม จะเกิดง่ายมาก ควรระมัดระวังในการรดน้ำ ควรเก็บผลผลิตในขณะที่ดอกเป็นสีขาวนวล อย่าปล่อยทิ้งไว้ให้แก่ จนเห็ดสร้างและปล่อยสปอร์เพราะบางท่าน อาจแพ้สปอร์ได้ ก้อนเชื้อที่เก็บผลผลิตหมดแล้วควรเก็บทิ้งให้เป็นที่และหมักให้ย่อยสลายดีก่อนนำไปเป็นปุ๋ย เพราะเห็ดแครงสามารถย่อยสลายเนื้อไม้ได้ดี ถึงแม้จะเป็นไม้ที่ตายแล้วก็ตาม (Wood decay) เกรงว่าจะไปทำอันตรายต่อผลิตผลการเกษตรบางชนิด



ขอบคุณแหล่งข้อมูล


1.วารสารข่าวสารเพื่อผู้เพาะเห็ด ฉบับที่ 2 พฤษภาคม-สิงหาคม 2549
2.สมาคมนักวิจัยและเพาะเห็ดแห่งประเทศไทย
3.กลุ่มงานจุลชีวิทยาประยุกต์ กรมวิชาการเกษตร
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
4.กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น