การเพาะเห็ดหูหนู


เห็ดหูหนู
เป็นเห็ดที่ประชาชนทั่วไปรู้จักเป็นอย่างดี สามารถ เจริญเติบโตได้ดีในสภาพ ดินฟ้าอากาศของประเทศไทย เป็นเห็ดที่มีรสชาติดี กลิ่นหอม อร่อยและมีคุณสมบัติ พิเศษคือคงสภาพความกรอบและคุณค่าทางอาหาร ทั้งยังปลอดภัยต่อผู้บริโภค ธรรมชาติของเห็ดหูหนู
ในสภาพธรรมชาติ เห็ดหูหนูจะเจริญได้ดีในเขตร้อน โดยเฉพาะภูมิอากาศเขตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเจริญเติบโตบนขอนไม้ที่เริ่มเปื่อยผุพัง ชาวจีนเชื่อว่าเห็ดหูหนูเป็นยาอายุวัฒนะสามารถรักษาโรคคอเจ็บ โรคโลหิตจางและแก้โรคร้อนในได้เป็นอย่างดี ชาวจีนนับเป็นชาติแรกที่รู้จักเพาะและบริโภคเห็ดหูหนู ในสมัยก่อนชาวจีนเพาะเห็ดหูหนูโดยการตัดไม้โอ๊กเป็นท่อน มาเพาะ แต่สำหรับประเทศไทยได้ทดลองเพาะ เห็ดหูหนูโดยการตัดไม้แคมากองสุมกันไว้ พอถึงฤดูฝนไม้จะเริ่มผุและมีเห็ดหูหนูเกิดขึ้น จากนั้นก็สามารถเก็บดอกเห็ดหูหนูได้เรื่อย จนเน่าขอนไม้จะผุ แต่ในปัจจุบันนิยมการเพาะเห็ดหูหนู ในถุงพลาสติกกันมากเพราะมีความสะดวก หาวัสดุเพาะได้ง่าย
สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับ การเจริญเติบโตของเห็ดหูหนู

1. อุณหภูมิ เห็ดหูหนูสามารถเจริญได้ดีในทุกสภาพอากาศของไทย ในช่วงอุณหภูมิ 15-35 องศาเซลเซียส แต่ช่วงอุณหภูมิ ที่เหมาะสมควรอยู่ระหว่าง 25-32 องศาเซลเซียส ถ้าอุณหภูมิต่ำกว่า 12 องศาเซลเซียส หรือสูงกว่า 35 องศาเซลเซียส เส้นใยจะไม่ค่อยเจริญเติบโต ถ้าอุณหภูมิต่ำ ดอกเห็ดจะหนาผิดปกติ มีขนยาว เจริญเติบโตช้าและผลผลิตต่ำ แต่ถ้าอุณหภูมิสูง ดอกเห็ดจะมีขนาดเล็ก ผลผลิตต่ำ

2. ความชื้น ปกติต้องการความชื้นในอากาศสูงมาก ความชื้นสัมพัทธ์ไม่ควรต่ำกว่า 80 เปอร์เซ็นต์โดยเฉพาะในระยะเวลาที่เห็ดใกล้ออกดอก ควรมีความชื้นสัมพัทธ์ไม่ต่ำกว่า 95 เปอร์เซ็นต์ 3. แสงสว่าง ปกติไม่จำเป็นนักแต่ในช่วงที่เส้นใยเจริญเติบโต หากมีแสงมากจะทำให้เส้นใยเดินช้าแก่เร็ว จึงควรเลี้ยงเส้นใยในห้องที่ค่อนข้างมืด สำหรับในช่วงที่เห็ดเริ่มออกดอก ถ้าแสงมากเกินไป ดอกเห็ดจะมีสีคล้ำขนยาว แต่ถ้าแสงน้อยดอกเห็ดจะซีด

4. การถ่ายเทอากาศ การถ่ายเทอากาศในโรงเรือนนับว่ามีความสำคัญมาก ถ้าการถ่ายเทอากาศไม่ดี และมีการสะสมของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มาก ดอกเห็ดจะไม่บานแต่จะมีลักษณะเป็นแท่งคล้ายกระบอง แต่ถ้าอากาศถ่ายเทมากเกินไป จะทำให้ดอกเห็ดมีลักษณะแข็งกระด้าง มีขนยาว จึงนิยมเพาะในโรงเรือนที่มุงด้วยจากหรือหญ้าคา และบุด้วยพลาสติกภายในพร้อมกับ เจาะพลาสติกเป็นช่องระบายอากาศให้ถ่ายเทพอสมควร

5. สภาพความเป็นกรด-ด่าง เห็ดหูหนูเจริญได้ดีในสภาพเป็นกลาง หรือเป็นกรดเล็กน้อย ประมาณ 4.5-7.5 คล้ายกับเชื้อราทั่วไป ในการเพาะเห็ดหูหนูจึงควรปรับ สภาพของอาหารให้เหมาะกับการเจริญเติบโต

การผลิตก้อนเชื้อเห็ดหูหนู
สูตรที่นิยมใช้คือ
ขี้เลื่อยไม้ยางพาราแห้ง 100 กิโลกรัม

แป้งข้าวสาลีหรือน้ำตาล 3-4 กิโลกรัม

รำละเอียด 5 กิโลกรัม

ข้าวโพดป่น 3-5 กิโลกรัม

ดีเกลือ 0.2 กิโลกรัม

ปูนขาว 0.5-1 กิโลกรัม

น้ำสะอาด 70-80 กิโลกรัม
  • หมายเหตุ ในการเพาะเห็ดหูหนู อาจใช้ขี้เลื่อยเพียงอย่างเดียวก็ได้ แต่ผลผลิตที่ได้จะต่ำ สำหรับขี้เลื่อยที่ใช้มักใช้ขี้เลื่อยไม้เนื้ออ่อน เช่น ไม้ยางพารา ก้ามปู นุ่น เป็นต้น ซึ่งขี้เลื่อยที่ใช้จะต้องไม่มียางที่เป็นพิษต่อเห็ดด้วย ถ้าต้องการเพิ่มผลผลิตให้สูงขึ้นควรเพิ่ม อาหารเสริมลงในขี้เลื่อยสูตรที่ใช้ในการ เพาะก็สามารถดัดแปลงใช้วัสดุที่หาง่ายในท้องถิ่น แล้วแต่ผู้เพาะเห็ดจะเลือกแต่ควรคำนึง ถึงผลได้ผลเสียที่อาจเกิดขึ้นด้วย สำหรับสูตรอาหารข้างต้น เป็นสูตรที่กรมวิชาการเกษตรได้ทำ การทดลองใช้กับเห็ดหูหนูที่ให้ผลผลิตสูง

วิธีการทำ
นำส่วนผสมต่าง มาคลุกเคล้าผสมให้เข้ากัน ค่อย ผสมน้ำลงไป ให้ขี้เลื่อยมีความชื้น ประมาณ 60-70 เปอร์เซ็นต์ ทดสอบโดยใช้มือกำส่วนผสมขึ้นมาแล้วบีบดูเมื่อคลายมือออก หากขี้เลื่อยมีความชื้นพอเหมาะขี้เลื่อยอาจจะแบ่งออกเป็น 2-3 ก้อนใหญ่เท่านั้น ไม่แตกละเอียดเป็นก้อนเล็ก ซึ่งแสดงว่าแห้งเกินไปหรือจับเป็นก้อนใหญ่เพียงก้อนเดียว ซึ่งแสดงว่าชื้นเกินไป เมื่อส่วนผสมได้ที่แล้ว บรรจุลงถุงพลาสติกทนร้อนประมาณ 8-10 ขีด อัดก้อนให้แน่นพอสมควร ส่วนปากถุงใส่คอขวดใช้ ยางรัดอุดจุกสำลีปิดทับด้วยกระดาษรัดยางอีกชั้น นำไปนึ่งด้วยหม้อนึ่งลูกทุ่งนาน 3-4 ชั่วโมง นับจากน้ำเดือด เมื่อนำออกมาตั้งไว้ให้เย็น ทำการเขี่ยเชื้อเห็ดลงไป นำไปบ่ม ดูรายละเอียด ขั้นตอน การเพาะเห็ดในถุงพลาสติก

การบ่มก้อนเชื้อ
หลังจากการที่เขี่ยเชื้อเรียบร้อยแล้ว ให้นำก้อนเชื้อ ไปบ่มไว้ในห้องที่มีอุณหภูมิสม่ำเสมอ ในการบ่มเชื้อถ้าต้องการให้เชื้อเห็ดเจริญเร็ว ควรปฏิบัติดังนี้

1. อุณหภูมิที่ใช้บ่มควรอยู่ที่ 25-30 องศาเซลเซียส หรืออุณหภูมิห้อง

2. ในระยะแรกของการเดินของเส้นใยเห็ดหูหนุ ไม่ต้องให้มีอากาศถ่ายเทมากนัก ถ้าอากาศไม่ถ่ายเทและมีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สะสมไว้มาก เส้นใยเห็ดหูหนูเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วดังนั้นในระยะ 10 วันแรก ของการบ่มเชื้อไม่ควรให้มีลมโกรกมากนัก

3. ในระยะที่เส้นใยเจริญเต็มที่ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 30-45 วัน ในระยะนี้จำเป็นต้องให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก และให้ก้อนเชื้อถูกแสงสว่างบ้างซึ่ง จะช่วยกระตุ้นให้เส้นใยมีการสะสมอาหารและรวมตัวกันเป็นดอกเห็ดเล็ก ภายในถุง

4. ก้อนเชื้อที่เส้นใยเดินเต็มพร้อมที่จะเปิดดอกได้ ไม่ควรเก็บนานเกิน 15 วัน เพราะก้อนเชื้อจะแก่เมื่อเอาไปใช้จะเจริญเป็นดอกช้ามากหรือไม่เจริญ ควรเก็บในที่มีอากาศค่อนข้างเย็น จะทำให้ก้อนเชื้อแก่นั้นเสื่อมช้าลง

การทำให้เกิดดอก
เมื่อเส้นใยเห็ดหูหนูเจริญเต็มก้อนเชื้อแล้ว การทำให้เห็ดเกิดดอกควรปฏิบัติดังนี้

1. การกรีดถุง ให้ถอดคอขวดพลาสติกออกแล้วรวบปากถุงใช้ยางรัดให้แน่นแล้วใช้มีดคม กรีดข้างถุงโดยรอบ กรีดเป็นรูปกากบาทเล็ก หรือเป็นช่วงสั้น ประมาณ 1 นิ้ว สำหรับเห็ดหูหนูไม่นิยมเปิดปากถุงหรือเปลือยถุง เพราะขนาดดอกที่ออกจะใหญ่ มักไม่เป็นที่นิยมของตลาดและการที่ไม่กรีดเป็นช่วงยาว ก็เพราะดอกเห็ดที่ออกจะติดกันเป็นแถวยาวตามรอยกรีด และจะมีขนาดดอกไม่เสมอกันตั้งแต่ ขนาดที่เก็บไว้ทานได้จนถึงขนาดที่เริ่มเป็นตุ่ม เวลาเก็บให้หมด เพราะจะอยู่ติดกัน ดอกที่เล็กอยู่และมีโอกาสโตได้อีกจะเสียไป ดูรายละเอียด ขั้นตอน การเปิดดอกเห็ดหูหนู

2. การวางก้อนเชื้อ อาจวางได้ 2 วิธี คือ
  • การวางบนชั้น คล้ายกับเห็ดนางรม เป๋าฮื้อ โดยให้แต่ละถุงห่างกันประมาณ 5-7 ซม. ถ้าวางห่างกันมากเกินไป จะเกิดผลเสียคือสิ้นเปลืองพื้นที่โดยเปล่าประโยชน์ ความชื้นไม่เพียงพอ เพราะระยะก้อนเชื้อห่างกันมาก จึงทำให้ได้จำนวนถุงน้อยและสิ้นเปลืองเวลา ในการรดน้ำดอกเห็ดที่ได้จะขนยาว ดอกหนา ไม่เป็นที่นิยมของตลาด
  • การวางก้อนเชื้อแบบแขวน วิธีการนี้ตามฟาร์มเห็ดหลายแห่งนิยมกันมาก เพราะไม่ต้องสิ้นเปลืองวัสดุในการทำชั้น โดยใช้ลวดแทงให้ทะลุก้อนเชื้อในแนวตั้งซ้อน กันเป็นพวง ละ 10 ถุง และใช้แขวนถุงเห็ดห่างกัน 5-7 ซม. การแขวนก้อนเชื้อจะช่วยลดความเสียหายจากการทำลายของมด แมลงสาบ ฯลฯ ได้มาก

3. การดูแลรักษาก้อนเชื้อ หลังจากเปิดถุงแล้ว สิ่งที่ต้องระมัดระวังให้มากก็คือความสะอาดมิฉะนั้นแล้ว โรงเรือนอาจเป็นแหล่งสะสมของโรคและแมลงศัตรูเห็ดได้

ในการดูแลก้อนเชื้อในโรงเรือนให้ปฏิบัติดังนี้
  • ในระยะแรกของการรดน้ำ ควรรดเฉพาะที่พื้นที่โรงเรือน เพื่อช่วยให้มีความชื้นเหมาะ ต่อการออกดอกของเห็ดหูหนูเท่านั้น เพราะในระยะแรกตรงบริเวณรอยกรีด เส้นใยจะขาดต้องรอให้เส้นใยเจริญประสานกันก่อน ถ้ารดน้ำไปถูกก้อนเชื้อเห็ดจะออกดอกช้า และถ้าน้ำไม่สะอาด จะทำให้จุลินทรีย์เข้าลายรอยแผลที่กรีดให้เสียหายได้
  • การให้น้ำก้อนเชื้อ ควรใช้เครื่องฉีดน้ำชนิดเป็นฝอย ฉีดพ่นประมาณวันละ 2 ครั้ง ถ้าอากาศแห้งแล้งให้เพิ่มจำนวนครั้งขึ้นอีก จนกระทั่งเก็บผลผลิต

4. การเก็บผลผลิต อาจใช้ระยะเวลาในการเก็บประมาณ 2-3 เดือน โดยเห็ดถุงหนึ่ง ที่หนัก 1 กิโลกรัม จะให้ผลผลิตประมาณ 4-6 ขีด เห็ดหูหนูที่ออกดอกในระยะแรก หมวกดอกจะหนาและโค้งคล้ายถ้วย เมื่อเจริญเติบโตเต็มที่ ของเห็ดจะบางและโค้งเป็นลอน ถ้าใช้มือดึงดอกเห็ดเบา ดอกเห็ดก็จะหลุดได้ง่าย ควรเก็บเฉพาะดอกแก่ ส่วนดอกที่มีขนาดเล็กให้รอจนกว่าดอกเห็ดโตเต็มที่เสียก่อน

ปัญหาที่มักเกิดกับเห็ดหูหนู
1. ก้อนเชื้อเสียเนื่องจากมีเชื้ออื่นปะปน มักมีสาเหตุจาก
- ใช้รำละเอียดเก่าผสมขี้เลื่อย
- การนึ่งฆ่าเชื้อไม่ได้ที่ โดยเฉพาะการนึ่งแบบหม้อนึ่งลูกทุ่ง ไม่สามารถฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ได้หมดและสภาพของก้อนเชื้อก็ เหมาะต่อการเจริญของเชื้อจุลินทรีย์อื่น จึงทำให้เชื้อจุลินทรีย์ชนิด อื่นขึ้นปะปนกับเชื้อเห็ด
- อาหารเสริมที่เติมลงไปในขี้เลื่อย มีจำนวนมากเกินไป จึงทำให้เชื้อจุลินทรีย์อื่น เจริญได้ดีกับเชื้อเห็ด
- สำลีเก่าและเปียกชื้น
- หัวเชื้อไม่บริสุทธิ์หรือเขี่ยในห้องที่ลมไม่สงบ
2. เชื้อเห็ดที่ใส่ลงไปในก้อนเชื้อไม่เจริญ สาเหตุจาก
- หัวเชื้อไม่บริสุทธิ์หรือมีเชื้อปะปนเข้าไปในถุงก้อนเชื้อ
- ในกรณีที่ใช้การหมักขี้เลื่อยแต่ไม่สมบูรณ์ เกิดก๊าซแอมโมเนียสะสมในกองปุ๋ยหมักมาก ซึ่งจะไปชะงักการเจริญของเส้นใยเห็ด - ความชื้นในก้อนเชื้อชื้นเกินไป ทำให้ขาดออกซิเจน เส้นใยเห็ดจึงเจริญช้าแต่เชื้อแบคที่เรีย เจริญได้ดีจนเชื้อเห็ดไม่สามารถเจริญเติบโตได้
- การบ่มก้อนเชื้อใช้อุณหภูมิต่ำเกินไป หรือทุบแรงเกินไปในระยะแรกของการเจริญเติบโตทางเส้นใยจะเจริญช้ามาก
3. ก้อนเชื้อมีไรไข่ปลาลักษณะเป็นเม็ดใส คล้ายไข่ปลาสาเหตุมาจาก
- ห้องบ่มเชื้อและโรงเรือนไม่สะอาด
- ไข่ของไรอาจตกค้างอยู่ในขี้เลื่อยหรือหัวเชื้อก็ได้
ลักษณะการทำลายของไรศัตรูเห็ด ไร่ไข่ปลา จะทำลายเส้นใยเห็ดในระยะเลี้ยงเชื้อบนอาหารวุ้น ระยะหัวเชื้อและระยะบ่มเส้นใยในถุงพลาสติก โดยจะเริ่มทำลายจากปลายของขอบเส้นใยเข้าไป ทำให้เส้นใยชะงักการเจริญเติบโต ผลคือเส้นใยจะเดินไม่เต็มถุง ปกติไรชนิดนี้ไม่ค่อยระบาดในเห็ดอื่น

การป้องกันเมื่อมีการระบาดของไร
1.แนะนำ
  • ใช้สารชีวภัณฑ์ ไมโตฟากัส ผสม กับ พลายแก้วฉีดพ่น ในโรงเรือน และหลังจากกรีดถุงเปิดดอก

2.ไม่แนะนำ
  • ใช้การรมยาเส้นใยเห็ดในเวลาเลี้ยงเชื้อ ก่อนที่จะเขี่ยเชื้อลงในขวดหัวเชื้อด้วยยารมฟอสฟิน ในอัตรา 1 เม็ด รมนาน 25 ชั่วโมง ในที่รมที่มีปริมาตรขนาด 0.5 ลูกบาศ์เมตร โดยที่เส้นใยเห็ดหูหนูมีอายุ 10 วัน โดยรม 2 ครั้ง ห่างกัน 5 วัน
  • ทำการแยกหัวเชื้อใหม่โดยใช้ยาเคลเทน ประมาณ 5 พีพีเอ็ม ลงในอาหารวุ้น ส่วนในขี้เลื่อยควรผสมยาเคลเทนประมาณ 7 พีพีเอ็ม ก้อนเชื้อหลังจากที่เขี่ยเชื้อแล้ว ควรฉีดยาฆ่าไรพวกเคลเทน เซฟวิน-85 มาลาไธออน บริเวณก้อนเชื้อและจุกสำลีตลอดจนโรงเรือนทั่วไป

3.เผาทิ้งหรือทำลายถุงที่มีไรระบาดหนัก

4. เส้นใยเดินช้าหรือเดินแล้วหยุดสาเหตุเพราะ
- ขี้เลื่อยมียาง หรือมีสารพิษอื่น ปะปน เช่น ผงซักฟอก น้ำมัน คลอรีน ฯลฯ
- หัวเชื้อเสื่อมคุณภาพ - ขี้เลื่อยหรือการบรรจุถุงแน่นเกินไป ควรมีช่องว่างให้อากาศเข้าถึงช่วยในการเดินของเส้นใย
- อุณหภูมิในห้องบ่มต่ำเกินไป หรือความชื้ในถุงไม่เพียงพอ
5. ก้อนเชื้อหลังจากที่เส้นใยเดินเต็มถุงแล้ว ไม่ออกดอกหรือออกดอกช้าผลผลิตต่ำสาเหตุจาก
- เชื้อเห็ดเป็นหมันหรือเสื่อมคุณภาพ
- ความชื้นและอาหารสำหรับเชื้อเห็ดไม่เพียงพอ
6. แมลงกัดกินก้อนเชื้อมักพบเพราะ
- สภาพโรงเรือนไม่สะอาด
- เห็ดหูหนูมีสารล่อแมลงได้
- การเปิดไฟในโรงเรือนตอนกลางคืน

การป้องกัน ก่อนเปิดก้อนเชื้อให้นำก้อนเชื้อมาแช่ น้ำที่ละลายยาฆ่าแมลงที่เกาะตามถุงภายนอกและต้อง หมั่นตรวจความสะอาดภายในโรงเรือน

1. ราเมือก มักพบมากในก้อนที่เก่าใกล้หมดอายุ หรือในโรงเรือนทีสกปรก พื้นมีน้ำขัง ก้อนเชื้อจะมีลักษณะผิวหน้านิ่ม และเน่ามีสีเหลือง กลิ่นเหม็น อาจลามขึ้นมาบนดอกเห็ดเป็นลายตาข่าย สีเหลืองเหม็นคาว ทำลายดอกเห็ดให้หัก พับนิ่มเละและอาจเน่า สาเหตุที่เกิดเพราะโรงเรือนไม่สะอาดพอ มีการหมักหมมของเก่าไว้ ราเมือกที่เกิดขึ้นจะลามกินก้อนเชื้ออย่างรวดเร็ว จึงควรทิ้งก้อนเชื้อนั้นเสีย ล้างชั้นวางก้อนเชื้อให้สะอาดด้วยแอลกอฮอล์ 70% และโรยปูนขาวบนพื้นโรงเรือน ทิ้งไว้ 2 วัน จึงล้างออก

2. ราเขียว ทำให้เส้นใยหยุดชงักการเจริญ เดินไม่เต็มก้อนหรือตายไปเฉพาะส่วนนั้น เพราะราเขียวแย่งอาหารจากเห็ด มักเกิดขึ้นเพราะอากาศร้อน แก้ไขโดยเพิ่มปูนขาวลงในอาหารให้มากขึ้น

การทำเห็ดหูหนูแห้ง

1. คุณภาพของเห็ดหูหนู การที่เห็ดหูหนูจะราคาสูงหรือต่ำขึ้นอยู่กับคุณภาพของดอกเห็ด โดยพิจารณาจาก
- ลักษณะของดอกเห็ดควรมีดอกค่อนข้างบาง
- ดอกเห็ดควรมีขนสั้นหรือไม่มีขนเลยยิ่งดี
- สีของเอกเห็ด ควรมีสีน้ำตาลค่อนข้างดำและออกเป็นเงา

2. การปรับปรุงคุณภาพของดอกเห็ด การที่จะทำให้เห็ดหูหนูมีคุณภาพดีให้ปฏิบัติดังนี้
- การวางถุงให้ชิดกัน จะช่วยให้ดอกเห็ดที่เกิดมีลักษณะบางและให้เก็บเมื่อแก่เต็มที่
- สีของดอกเห็ดตามปกติขึ้นอยู่กับพันธุ์และความเข้มของแสง ถ้าแสงมากดอกจะมีสีเข้มถ้าแสงน้อยดอกจะสีซีด
- ขนของดอกเห็ด จะสั้นหรือยาวขึ้นกับลมและอากาศ ถ้าเห็นหูหนูถูกลมมาก และอากาศเย็นขนจะยาว ดังนั้น ถ้าจะให้ขนดอกเห็ดสั้นจะต้องระวังอย่าให้ลมโกรกมากเกินไป

3. วิธีการทำแห้ง หลังจากเก็บเห็ดมาแล้ว ตัดเศษขี้เลื่อยที่ติดมากับโคนดอกออกให้หมด ล้างน้ำให้สะอาด ถ้าดอกเห็ดมีขนมากให้แช่น้ำไว้ก่อน แล้วนำไปใส่ตะแกรงตากแดดจัด ประมาณ 2-3 แดด โดยหงายด้านหลังขึ้น จะทำให้ขนหลุดได้ง่าย

Credit : กองเกษตรสัมพันธ์ กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น